เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) ได้ประกาศใช้มาตรฐานระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน ISO 37001-Antibribery Management Systems ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ให้แนวทางในการจัดทำ ดำเนินการ การรักษาไว้ ตลอดจนการปรับปรุงระบบการจัดการป้องกันการติดสินบน และเป็นมาตรฐานที่สามารถขอการรับรองจากหน่วยรับรอง (Certification Body) เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดการลดความเสี่ยงด้านการทุจริตติดสินบนจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน หรือองค์กรไม่แสวงหากำไร
มาตรฐาน ISO 37001 ดังกล่าว เป็นระบบการจัดการป้องกันการติดสินบน ที่ช่วยให้ผู้บริหาร ตลอดจนผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรมีความมั่นใจว่า องค์กรมีการดำเนินงานที่ดี และเหมาะสม เพื่อป้องกันการทุจริตติดสินบน องค์กรสามารถนำมาตรฐานนี้เป็นเงื่อนไขในการดำเนินโครงการ หรือทำธุรกิจกับคู่ค้าทางธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบันกฎหมายป้องกันการติดสินบนข้าราชการต่างประเทศ หรือ US Foreign Corrupt Practices Act (FCPA) ของสหรัฐอเมริกา และ UK Antibribery Act ของสหราชอาณาจักร ที่มีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ยิ่งทำให้บริษัทไทยต้องมีมาตรการในการต่อต้าน และปราบปรามการติดสินบนอย่างเข้มงวด และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล บริษัทไม่สามารถปัดความรับผิด หรือผลักภาระรับผิดชอบไปยังพนักงาน หรือคู่ค้าภายนอกได้ แต่ต้องมีระบบการจัดการในเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั่วทั้งองค์กร
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อเกิดเหตุทุจริตขึ้น ย่อมส่งผลลบต่อกำไรสุทธิของบริษัท และกระทบกับขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากกรณีทุจริตที่ละเมิดต่อกฎหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนการเสื่อมเสียชื่อเสียงที่องค์กรอุตส่าห์สั่งสมมาอย่างยาวนานในชั่วข้ามคืน จึงถือเป็นความเสี่ยงที่องค์กรไม่อาจเพิกเฉยได้
ลำพังการพึ่งมาตรการทางกฎหมายหรือการลงโทษ เมื่อเกิดเหตุทุจริตนั้นคงไม่เพียงพอ แต่ยังต้องอาศัยมาตรการป้องกันที่เหมาะสมด้วย องค์กรควรพิจารณาดำเนินการวางระบบป้องกันการติดสินบนให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการธุรกิจ เช่นเดียวกับระบบการจัดการคุณภาพ และสิ่งแวดล้อม
มาตรฐาน ISO 37001 ช่วยให้องค์กรสามารถนำนโยบายการต่อต้านการติดสินบน ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม การมอบหมายให้มีผู้ดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบาย การฝึกอบรม การประเมินความเสี่ยง รวมถึงการตรวจสอบสถานะโครงการและคู่ค้า การนำมาตรการควบคุมดูแลด้านการเงินและธุรกรรมมาใช้ ตลอดจนการวางระบบการรายงานและขั้นตอนการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
การขจัดสินบนในองค์กร ตามแนวทางของมาตรฐาน ISO 37001 ถือเป็นคำตอบที่องค์กรในทุกขนาด และในทุกห่วงโซ่ธุรกิจ สามารถใช้เป็นมาตรฐานการดำเนินงานและการสื่อสารถึงการต่อต้านการติดสินบนได้ในภาษาเดียวกัน โดยได้รับการยอมรับใน 59 ประเทศทั่วโลก
บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไปที่สนใจการวางระบบและการรับรองระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบนตามมาตรฐานISO 37001 สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pact.network
[Original Link]