AD (728x60)

ข่าว PACT (เดือนพฤษภาคม 2559)

Share & Comment

องค์กรของท่านรู้จักมาตรฐานการจัดการการต่อต้านการติดสินบน ISO 37001 (Anti -bribery management systems) ดีแล้วหรือยัง ?

เรียบเรียงโดย รัฐพร มาลยพันธุ์
ผู้จัดการส่วนงานบริการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน
บริษัท บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด


ปัญหาคอรัปชั่นและการติดสินบน: มาตรฐานการจัดการการต่อต้านการติดสินบน ISO 37001: ในปี พ.ศ. 2558 องค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International) ได้จัดทำดัชนีการรับรู้ด้านคอรัปชั่น (Corruption Perception Index) ขึ้น โดยรวมรวมมุมมองของนักธุรกิจ และผู้เชี่ยวขาญต่อระดับการคอรับชั่นของภาครัฐใน 168 ประเทศ ผลของดัชนีได้ชี้ให้เห็นว่า ไม่มีประเทศใดเลยถูกมองว่าปราศจากการคอรับชั่น ยิ่งกว่านั้น ประมาณสองในสามจาก 168 ประเทศ ได้รับคะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน (ระดับคะแนนตั้งแต่ 0 – 100 โดยคะแนนต่ำหมายถึงการรับรู้ว่าประเทศนั้นมีการคอรัปชั่นสูง) ซึ่งในจำนวนนี้ ได้รวมถึงประเทศไทย ที่ได้คะแนน 38 คะแนน (ลำดับที่ 76)

เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศที่ได้คะแนนในระดับต่ำและอยู่ในลำดับท้ายๆ โดยส่วนมากเป็นประเทศที่มีปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ ปัญหาความยากจน สุขอนามัย และปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน เช่น โซมาเลีย และเกาหลีเหนือ (ลำดับสุดท้ายที่ 167, 8 คะแนนเท่ากัน) อัฟกานิสถาน (ลำดับที่ 166, 11 คะแนน) และซูดาน (ลำดับที่ 165, 12 คะแนน) เป็นต้น ดัชนีการรับรู้ด้านคอรัปชั่นนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า การคอรัปชั่นก่อให้เกิดปัญหาการบังคับใช้กฏหมายที่ล้มเหลว ส่งผลกระทบในด้านลบต่อสังคมและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าประเทศที่ได้รับคะแนนในระดับสูง มีกระบวนการจัดการปัญหาคอรัปชั่นภายในประเทศได้ดี จะไม่เกี่ยวข้องกับการคอรัปชั่นเลย เนื่องจากยังพบว่าประเทศเหล่านี้มีกรณีที่เกี่ยวข้องกับการคอรัปชั่นในต่างประเทศ หรือมีการส่งออกการคอรัปชั่น เช่น พบกรณีที่บริษัทหนึ่งในสวีเดนที่ภาครัฐถือหุ้นอยู่ มีการจ่ายสินบนในกิจกรรมที่ดำเนินการในประเทศอุซเบกิสถาน (ลำดับที่ 153)

ปัญหาการคอรัปชั่นนับว่าเป็นปัญหาในระดับสากลแม้ว่าในแต่ละประเทศจะมีระดับความเข้มข้นที่แตกต่างกัน แต่ช่องทางสำคัญที่นำไปสู่การคอรัปชั่น คือ “การติดสินบน” การติดสินบน คือ การให้เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ ในขณะที่การคอรัปชั่น คือ การใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางที่มิชอบ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่ไม่พึงได้ การกระทำทั้งสองประการนี้ล้วนเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมาย

องค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศได้นำเสนอรายงานเครื่องมือวัดการคอรัปชั่นโลก (Global Corruption Barometer) ในปี 2556 โดยได้เปิดเผยผลการสำรวจความเห็นจาก 114,000 คน ใน 107 ประเทศ พบว่า 23% ของผู้เข้าร่วมการสำรวจระบุว่า ได้ติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม 9 ใน 10 คนของผู้เข้าร่วมการสำรวจระบุว่า จะต่อต้านการคอรัปชั่น และ 2 ใน 3 คนของผู้เข้าร่วมการสำรวจ ปฏิเสธที่จะติดสินบนเมื่อถูกร้องขอ ข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญที่ภาครัฐ ประชาสังคม และภาคธุรกิจต้องร่วมมือกันยิ่งขึ้นเพื่อต่อต้านการติดสินบนและการคอรัปชั่น

หลายประเทศได้มีการแก้ไข หรือออกกฏหมายให้ครอบคลุมพฤติกรรมที่เข้าข่ายการคอรัปชั่น และการติดสินบนให้กว้างขวางและชัดเจนขึ้น เพื่อแก้ปัญหาของประเทศ และเพื่ออนุวัตกับข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น ประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ โออีซีดี (Organization for Economic Co-operation and Development - OECD) ได้จัดการประชุมเพื่อการต่อต้านการติดสินบนขึ้น (OECD Convention on Combating Bribery) โดยมีข้อตกลงในหมู่ประเทศสมาชิกที่มีผลผูกพันตามกฏหมาย (Legally binding) ให้ถือว่าการติดสินบนเป็นอาชญากรรม

ประเทศไทยในลงนามในสัตยาบันร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption: UNCAC) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2554 ประเทศไทยได้แก้กฏหมาย และตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ขึ้น เพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นด้านการกำหนดความผิดของการให้หรือรับสินบนที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ การกำหนดอายุความในกรณีหลบหนีและอายุความล่วงเลยการลงโทษ การกำหนดการริบทรัพย์สินในคดีทุจริตให้เป็นไปตามหลักการริบทรัพย์ตามมูลค่า เป็นต้น โดยมาตราที่สำคัญมาตราหนึ่ง คือ มาตรา 123/5 ได้บัญญัติไว้ว่า

“ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และ “ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลใด และกระทำไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลนั้น โดยนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดนั้น นิติบุคคลนั้นมีความผิดตามมาตรานี้ และต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่า แต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ”

ประเทศไทยมิใช่เป็นประเทศเดียวที่มีการปรับปรุงกฏหมายด้านการต่อต้านการติดสินบน ยกตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักร (ประเทศอังกฤษ) ได้ตรากฏหมายใหม่ที่เรียกว่า Bribery Act 2010 (พ.ศ 2553) ขึ้น โดยเป็นการปรับปรุงกฏหมายเดิม และขยายการบังคับใช้กฎหมายให้ครอบคลุมทั้งการปราบปราม และป้องกันการติดสินบนทั้งผู้ให้ และผู้รับ รวมทั้งการติดสินบนเจ้าหน้าของรัฐในต่างประเทศด้วย มาตราที่สำคัญมาตราหนึ่ง คือ มาตราที่เกี่ยวข้องกับความล้มเหลวขององค์กรทางธุรกิจที่จะป้องกันการติดสินบน (7. Failure of commercial organization to prevent the bribery) โดยองค์กรสามารถป้องกันตนเองจากความผิดตามมาตรานี้ได้ หากพิสูจน์ได้ว่ามีขั้นตอนที่เพียงพอ (Adequate Procedures) เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลาการที่เกี่ยวข้องกับองค์กร (Associated Person) ทำการติดสินบนเพื่อให้ได้รับ หรือรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับองค์กร

หลังจากนั้นไม่นาน องค์การมาตรฐานของอังกฤษ (British Standard Institute) ได้จัดทำและเผยแพร่ข้อกำหนดสำหรับระบบการจัดการเพื่อป้องการการติดสินบนขึ้น โดยใช้รหัส BS10500:2011 Specification for an anti-bribery management system (ABMS) เพื่อให้องค์กรได้มีเครื่องมือในการจัดการป้องกันการติดสินบนที่มีประสิทธิภาพ

BS10500:2011 เป็นแนวทางเบื้องต้นที่องค์กรมาตรฐานสากลระหว่างประเทศ (International Organization for Standardization) ใช้ในการพัฒนาข้อกำหนดระบบการจัดการต่อต้านการติดสินบนขึ้น หรือ ISO 37001 Anti-bribery management system โดยมีแผนที่จะเผยแพร่ระบบการจัดการดังกล่าว ให้สามารถนำไปพัฒนาระบบการจัดการต่อต้านการติดสินบน และการตรวจสอบโดยหน่วยงานตรวจสอบอิสระในระดับสากลได้ภายในปลายปี 2559 นี้

มาตรฐาน ISO 37001 ระบุข้อกำหนด และให้แนวทางสำหรับการจัดตั้ง ดำเนินการ รักษา และปรับปรุงระบบการจัดการการติดสินบน โดยมิได้กล่าวเจาะจงเรื่องการการฉ้อโกง (Fraud) การร่วมมือกันระหว่างองค์กรกำหนดราคาขายเพื่อกีดกันการแข่งขัน (Cartels) การต่อต้านการผูกขาดทางการค้า (Anti-trust/Competition) การฟอกเงิน (Money-laundering) หรือการกระทำมิชอบอื่นๆ ทั้งนี้องค์กรอาจขยายขอบเขตของระบบการจัดการให้ครอบคลุมกิจกรรมเหล่านี้ได้

การพัฒนา ISO 37001 คำนึงถึงวิธีปฏิบัติเพื่อการต่อต้านการติดสินบนที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยสามารถนำมาใช้ได้กับองค์กรทุกประเภท ทุกขนาด ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐ เอกชน หรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปใช้ ISO 37001 จึงใช้รูปแบบของระบบการจัดการเดียวกันกับมาตรฐานของการจัดการประเภทอื่นๆ เช่น ISO 9001, ISO 14001 เป็นต้น

การนำมาตรฐาน ISO 37001 มาใช้ในกระบวนการจัดการ สามารถอำนวยประโยชน์ให้องค์กรได้โดยสังเขป ดังนี้
ช่วยให้องค์กรดำเนินมาตรการที่สมเหตุสมผล (Reasonable) และพอเหมาะพอสม (Proportionate) เพื่อป้องกันการติดสินบน โดยมาตรการจะครอบคลุมถึงพันธกรณีของผู้นำองค์กร การอบรม การประเมินความเสี่ยง การตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ (Due diligent) ระบบการควบคุม การรายงาน การตรวจสอบ และการสืบสวน เป็นต้น
สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริหาร นักลงทุน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางธุรกิจ และผู้มีส่วนได้เสียต่อการดำเนินงานขององค์กร ว่าองค์กรได้มีการดำเนินงานอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการติดสินบน
ช่วยให้องค์กรดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติด้านการต่อต้านการติดสินบนที่เป็นสากล รวมทั้งปฏิบัติตามกฏหมาย
ช่วยให้องค์กรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความมั่นใจว่าองค์กรดำเนินการอย่างมีจริยธรรม ลดความเสี่ยงด้านการเงิน และการฟ้องร้องทางกฏหมายช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่องค์กร
การนำ ISO 370001 ไปดำเนินการช่วยลดความเสี่ยงขององค์กรจากปัญหาด้านการตินสินบน และช่วยให้องค์กรได้มีระบบควบคุมการต่อต้านการติดสินบน สถาบันมาตรฐานสากลระหว่างประเทศได้ระบุอย่างเป็นทางการล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2559 ว่าจะเผยแพร่มาตรฐาน ISO 37001 ภายในปี 2559 นี้ โดยมาตรฐาน ISO 37001 เป็นมาตรฐานที่สามารถให้การรับรองได้หลังจากที่องค์กรได้เริ่มดำเนินการตามข้อกำหนดของมาตรฐาน


-------------

ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทบูโร เวอริทัส: บริษัท บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทในกลุ่มบูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น โฮลดิ้ง เอสเอเอส ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ 2371 และเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศฝรั่งเศส บริษัทบูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น ได้ดำเนินงานในประเทศไทยโดยผู้บริหาร และทีมงานชาวไทยตั้งแต่ พ.ศ 2536 บูโร เวอริทัสเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการรับรองระบบคุณภาพ สุขอนามัย ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และการรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งเป็นผู้ตรวจสอบ และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น


บรรณานุกรม
Beddow Rachel (Editor) (2016) “Corruption Perceptions Index 2015,” Transparency International
Hardoon Deborah, Heinrich Finn (2013) “Global Corruption Barometer 2013,” Transparency International
The Stationery Office Limited under the authority and superintendence of Carol Tullo, Controller of Her Majesty’s Stationery Office and Queen’s Printer of Acts of Parliament (2010) “Bribery Act 2010 (Chapter 23),” United Kingdom
British Standard Institute (BSI) “BS10500:2011 Specification for an anti-bribery management system (ABMS)”, United Kingdom
ราชกิจจานุเบกษา, “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๘.”
Naden Clare (11 Jan 2016), “Anti-Bribery standard reaches voting stage,” International Organization for Standardization
ISO 37001 Briefing Note http://www.iso.org/iso/37001_briefing_note.pdf
DRAFT INTERNATIONAL STANDARD ISO/DIS 37001 (2015) Anti-bribery management systems


Tags:
 
Copyright © PACT Network