AD (728x60)

คำถาม-คำตอบ เกี่ยวกับ PACT

Share & Comment
  

1. เครือข่าย PACT มีที่มาอย่างไร

Partnership Against Corruption for Thailand (PACT) เป็นเครือข่ายที่ริเริ่มขึ้นโดยสถาบันไทยพัฒน์และหน่วยร่วมดำเนินงานที่เห็นความสำคัญต่อการต้านทุจริตภาคปฏิบัติ (Anti-corruption in Practice) อันเป็นผลสืบเนื่องจากการที่สถาบันไทยพัฒน์เป็นผู้ริเริ่มพัฒนาระบบประเมินระดับการพัฒนาของบริษัทจดทะเบียนต่อความคืบหน้าในด้านการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต (Anti-corruption Progress Indicator) ภายใต้โครงการประเมินระดับการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการ ในปี พ.ศ.2557 โดยการพัฒนาระบบประเมินดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

การต้านทุจริต เป็นหนึ่งในประเด็นหลักของเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ที่ถูกระบุอยู่ในหลักการ UN Global Compact ในมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO26000 และในแนวปฏิบัติ OECD สำหรับบรรษัทข้ามชาติ รวมทั้งในข้อปฏิบัติด้าน CSR สำหรับบริษัทจดทะเบียน ที่จัดทำขึ้นโดยสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งสะท้อนโดยนัยว่า บริษัทที่ประกาศว่ามี CSR จะต้องมีเรื่องการต่อต้านทุจริตในองค์กรรวมอยู่ด้วย หากองค์กรใดไม่มีหรือไม่ได้ทำเรื่องการต้านทุจริตจริงจัง ก็แสดงว่าองค์กรนั้นไม่ได้มีหรือไม่ได้ทำ CSR อย่างจริงจังเช่นกัน

ทั้งนี้ บทบาทของสถาบันไทยพัฒน์ต่อการขับเคลื่อน CSR ในประเด็นการต้านทุจริต ได้เริ่มขึ้นในช่วงกลางปี พ.ศ. 2553 จากการเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก เวทีสมัชชาคุณธรรม ในประเด็นธุรกิจ (CSR) และศาสนา ซึ่งมีองค์กรภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมจำนวน 64 แห่ง สังเคราะห์เป็นหลักการ 4 ข้อ ที่รวมถึงการปรับทัศนคติที่เห็นว่าการทำธุรกิจด้วยคุณธรรมจริยธรรมจะทำให้สูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขัน และการมุ่งขจัดค่านิยมในทางที่ส่งเสริมการทุจริตในหมู่ธุรกิจ บรรจุอยู่ภายใต้กรอบแนวทางที่เรียกว่า การทำงานวิถีกลุ่ม (Collective Action) จัดทำเป็นข้อเสนอมอบให้กับรัฐบาลในขณะนั้น โดยคณะทำงานกลุ่ม Dealing with Moral for Competitiveness: Ethical and Moral Guideline for Thailand ในเวที Thailand Competitiveness Conference 2010 ที่มีสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เป็นเจ้าภาพหลัก ซึ่งสอดรับกับความริเริ่มที่คุณชาญชัย จารุวัสตร์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ได้จัดทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้นำธุรกิจภาคเอกชนเกี่ยวกับการสร้างแนวร่วมในการต่อต้านทุจริต จนก่อตั้งเป็นโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ขึ้นในปลายปี พ.ศ.2553

2. เครือข่าย PACT มีข้อแตกต่าง และมีความร่วมมือกับแนวร่วม CAC อย่างไร

เครือข่าย PACT มิได้เป็นช่องทางให้บริษัทใช้ในการประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต หรือให้การรับรองบริษัทที่เข้าเป็นแนวร่วมในการต่อต้านทุจริต แต่เครือข่าย PACT สนับสนุนให้บริษัทที่เป็นสมาชิกในเครือข่าย PACT จัดทำคำประกาศเจตนารมณ์และเข้าสู่กระบวนการขอรับการรับรองจากแนวร่วม CAC

ทั้งนี้ สมาชิกของเครือข่าย PACT สามารถใช้แพลตฟอร์ม PACT เตรียมความพร้อมตนเองด้วยการพิจารณาให้คำมั่น (Commit) และจัดทำแนวนโยบาย สำหรับการประกาศเจตนารมณ์กับแนวร่วม CAC รวมถึงการเตรียมองค์กรด้วยการลงมือทำ (Establish) และจัดให้มีระบบควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ สำหรับการขอรับการรับรองจากแนวร่วม CAC และเมื่อบริษัทได้รับการรับรองจากแนวร่วม CAC แล้ว สมาชิกของเครือข่าย PACT สามารถใช้แพลตฟอร์ม PACT ในการขยายวง (Extend) และยกระดับความคืบหน้าในเรื่องการต่อต้านทุจริตไปยังหุ้นส่วนทางธุรกิจ ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทาน ตามลำดับ

3. เครือข่าย PACT มีข้อแตกต่าง และมีความร่วมมือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) อย่างไร

เครือข่าย PACT มิได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเครือข่ายการทำงานในระดับประเทศ หรือเป็นศูนย์รวมที่เชื่อมโยงการทำงานของทุกภาคส่วน แต่เครือข่าย PACT สนับสนุนให้บริษัทที่เป็นสมาชิกในเครือข่าย PACT เข้าเป็นส่วนหนึ่งของพลังสังคมในการต่อต้านทุจริต โดยเฉพาะกรณีที่อยู่ในความสนใจของสังคมและมีผลต่อสังคมส่วนรวม ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT)

ทั้งนี้ สมาชิกของเครือข่าย PACT สามารถใช้แพลตฟอร์ม PACT ริเริ่มโครงการสนับสนุนความโปร่งใสในระดับอุตสาหกรรมที่ตนเองสังกัดอยู่ ด้วยการทำงานในลักษณะกลุ่มความร่วมมือผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย (Multi-Stakeholder Group) เพื่อเชื่อมโยงกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) ในลักษณะที่เสริมแรงซึ่งกันและกัน

4. เป้าหมายของเครือข่าย PACT มีอะไรบ้าง

เหตุผลหนึ่งที่เครือข่าย PACT ถูกจัดตั้งขึ้น เกิดจากการที่บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งได้สอบถามมายังสถาบันไทยพัฒน์ หลังจากที่ได้รับผลประเมินความคืบหน้าในด้านการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต (Anti-corruption Progress Indicator) ประจำปี พ.ศ.2557 ว่า จะมีแนวทางในการยกระดับความคืบหน้าในเรื่องการต่อต้านการทุจริตอย่างเป็นขั้นตอนตามเกณฑ์การประเมินได้อย่างไร

เนื่องจากสถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้ประเมินฯ จะไม่ดำเนินการให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา หรือให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการประเมินดังกล่าวแก่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง หรือเพียงบางส่วน ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือก่อให้เกิดผลการประเมินที่ไม่เป็นกลาง สถาบันไทยพัฒน์ จึงจัดตั้งเครือข่าย PACT ขึ้น เพื่อทำงานร่วมกับสมาคมที่เกี่ยวข้องในการแนะนำกระบวนงานในการต่อต้านการทุจริต ผ่านทางสมาคมที่เป็น Association Partner ในเครือข่าย PACT ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดอบรมแก่สมาชิกที่เป็นบริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ที่เข้าร่วมการประเมินฯ ได้อย่างทั่วถึง

โดยหนึ่งในเป้าหมายหลักของเครือข่าย PACT ได้แก่ การส่งเสริมความก้าวหน้าเรื่องการต่อต้านการทุจริตของบริษัทจำนวน 154 แห่ง ซึ่งได้รับผลประเมินที่ระดับ 1 ในปี พ.ศ.2557 ให้สามารถพัฒนาสู่ระดับที่สูงขึ้น รวมทั้งช่วยเหลือบริษัทที่ยังมิได้เปิดเผยข้อมูลในเรื่องดังกล่าวหรือเปิดเผยเพียงบางส่วน อีกจำนวน 223 บริษัท ให้สามารถยกระดับการเปิดเผยข้อมูลตามเกณฑ์ประเมินได้อย่างครบถ้วน

สำหรับบริษัทที่ได้รับการรับรองจากแนวร่วม CAC แล้ว เครือข่าย PACT มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนบริษัทที่ได้รับการรับรองเหล่านั้น ให้สามารถยกระดับและขยายผลไปยังหุ้นส่วนทางธุรกิจ จนครอบคลุมตลอดถึงคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน ตามเกณฑ์ประเมินที่ระดับสูงสุด (ระดับ 5) ด้วยการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม PACT ที่ได้นำหลักการและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตที่เป็นสากลมาใช้พัฒนาเป็นคู่มือแนวทางการต้านทุจริต (ฉบับ How-to) ให้แก่บริษัทที่เข้าเป็นสมาชิกเครือข่าย PACT สำหรับเป็นแนวทางดำเนินงานอย่างเป็นระบบ

ส่วนบริษัทคู่ค้าที่อยู่ในซัพพลายเชนของบริษัทสมาชิก เครือข่าย PACT มีเป้าหมายที่จะช่วยเตรียมความพร้อมรองรับการดำเนินการต่อต้านการทุจริตที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมและในห่วงโซ่ธุรกิจ ด้วยการใช้แพลตฟอร์ม PACT สนับสนุนการทำงานของบริษัทสมาชิก เพื่อให้บริษัทคู่ค้าสามารถดำเนินธุรกิจที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตเช่นเดียวกัน

5. มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่าย PACT หรือไม่

บริษัทที่ประสงค์จะเข้าร่วมเครือข่าย PACT ในสถานะ PACT Member ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ โดยสิทธิประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับ ได้แก่
เอกสารคู่มือแนวทางการต้านทุจริต สำหรับองค์กรธุรกิจ (Anti-corruption in Practice) ฉบับ How-to
การประเมินความคืบหน้าในเรื่องการต่อต้านการทุจริตขององค์กรสมาชิก จากแบบแสดงข้อมูลเพื่อการประเมิน (Content Index Form) ซึ่งองค์กรสมาชิกให้การระบุตำแหน่งข้อมูล Anti-Corruption ที่เปิดเผยไว้ต่อสาธารณะ
รายงานผลการประเมินความคืบหน้าในเรื่องการต่อต้านการทุจริตขององค์กรสมาชิก เพื่อประโยชน์ในการยกระดับการต่อต้านการทุจริตขององค์กรสมาชิก
การอบรมแนะนำกระบวนงานในการต่อต้านการทุจริต ผ่านทางสมาคมที่เป็น Association Partner ในเครือข่าย PACT เป็นผู้จัด
ทั้งนี้ บริษัทที่เห็นประโยชน์และมีความประสงค์ที่จะสนับสนุนเครือข่าย PACT สามารถให้การสนับสนุนในสถานะ PACT Contributor ได้ตามอัตราการสนับสนุนที่ระบุ (ดูรายละเอียดได้ที่นี่)
Tags:
 
Copyright © PACT Network