ความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูล
ความท้าทายในการต่อต้านการทุจริตที่ภาคธุรกิจประสบและจำเป็นต้องใช้ความกล้าหาญในการตัดสินใจ คือ การที่บริษัทตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกต่อการถูกเรียกสินบนเพื่อแลกกับสัญญางาน หรือถูกเรียกค่าอำนวยความสะดวกเพื่อแลกกับความรวดเร็วในขั้นตอนการติดต่อและอนุมัติของทางราชการ ซึ่งหากไม่ตอบสนอง ก็จะต้องสูญเสียงานหรือได้รับความล่าช้าทำให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจในมูลค่าที่สูงกว่า ปัจจัยสำคัญต่อทางออกในเรื่องดังกล่าว คือ ความร่วมมือจากทุกฝ่ายและต้องดำเนินการไปพร้อมกัน ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิผล องค์กรธุรกิจที่มีความพร้อมและต้องการขจัดการทุจริต จึงต้องแสวงหาความร่วมมือในลักษณะของแนวร่วมปฏิบัติและทำความข้อตกลงในการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานโดยสมัครใจ การเปิดเผยข้อมูลถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการต่อต้านการทุจริตที่องค์กรธุรกิจสามารถริเริ่มได้ด้วยตัวเองในขอบเขตอำนาจที่มีอยู่สิ่งที่ธุรกิจจะได้รับจากการเปิดเผยข้อมูล ประกอบด้วย ความน่าเชื่อถือในการดำเนินงานที่เป็นไปอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ การยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ของกิจการที่เห็นความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูล การสร้างระบบการดำเนินงานภายในที่สนับสนุนการต่อต้านทุจริตและลดโอกาสการเกิดทุจริตขึ้นในองค์กร การเสริมสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงองค์กรต่อการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ซึ่งนำไปสู่บทบาทการดำเนินธุรกิจที่ดึงดูดทั้งคู่ค้าและบุคลากรที่ดีให้เข้าร่วมทำงาน ลดต้นทุนแฝงของธุรกิจ ช่วยให้กิจการสามารถพัฒนาไปสู่องค์กรที่ยั่งยืนในที่สุด
บริษัทสามารถใช้แนวทางการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล อาทิ กรอบการรายงานแห่งความยั่งยืนขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (GRI) ในประเด็นการต่อต้านการทุจริต หรือ ข้อแนะนำการรายงานตามหลักการที่ 10 ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ที่จัดทำโดยความร่วมมือระหว่างข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UNGC) และองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) เป็นต้น
ทั้งนี้ กรอบหรือแนวปฏิบัติของการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกรณีที่มีการฝ่าฝืนกฎหมายในเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตของแต่ละหน่วยงานที่กำกับดูแลหรือกำหนดมาตรฐาน อาจมีความแตกต่างกันทั้งในแง่ของระดับการเปิดเผยข้อมูลและในแง่ของปริมาณข้อมูลที่เปิดเผย อย่างไรก็ดี องค์กรควรให้ความสำคัญและกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงของกรณีทุจริตที่เกิดขึ้น ตามที่กิจการได้ให้คำมั่นและดำเนินนโยบายการต่อต้านการทุจริต หรือเป็นไปตามกรอบหรือแนวปฏิบัติที่กิจการใช้อ้างอิงในการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงาน หรือเป็นไปตามความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ โดยเฉพาะในกรณีที่บริษัทและบริษัทย่อยถูกตรวจสอบหรืออยู่ระหว่างถูกตรวจสอบโดยหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ว่ามีการฝ่าฝืนกฎหมายในเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต
กรณีในเรื่องที่เกี่ยวกับการทุจริต ทั้งที่อยู่ระหว่างถูกตรวจสอบ ดำเนินคดี หรือพิพากษาตัดสินแล้วในรอบเวลาของการรายงาน บริษัทควรแสดงข้อเท็จจริงของกรณีที่เกิดขึ้น ระมัดระวังการรายงานในลักษณะซึ่งมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงหรือละเว้นที่จะรายงานข้อมูลตามที่เป็นจริง ปกปิดข้อมูลในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ หรือพยายามตกแต่งข้อมูล ปรับตัวเลข เรียบเรียงคำบรรยาย อันทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ทั้งนี้ หากเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล บริษัทหรือบริษัทย่อยตกเป็นคู่ความหรือคู่กรณี บริษัทอาจเปิดเผยโดยอ้างอิงไปยังหัวข้อข้อพิพาททางกฎหมายได้